วัฒนธรรม
วัฒนธรรมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอมและดินแดนบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอย่างมาก พุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์และศรัทธาของไทยสมัยใหม่ ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตามกาลเวลา ซึ่งรวมไปถึงการรวมเอาความเชื่อท้องถิ่นที่มาจากศาสนาฮินดู การถือผี และการบูชาบรรพบุรุษ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ซึ่งการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มชาวจีนได้มีตำแหน่งในอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง[ต้องการอ้างอิง]
วัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวคือ มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ชาวไทยมักจะมีความเป็นเจ้าบ้านและความกรุณาอย่างดี แต่ก็มีความรู้สึกในการแบ่งชนชั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน ความอาวุโสเป็นแนวคิดที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง ผู้อาวุโสจะต้องปกครองดูแลครอบครัวของตนตามธรรมเนียม และน้องจะต้องเชื่อฟังพี่
การทักทายตามประเพณีของไทย คือ การไหว้ ผู้น้อยมักจะเป็นผู้ทักทายก่อนเมื่อพบกัน และผู้ที่อาวุโสกว่าก็จะทักทายตอบในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน สถานะและตำแหน่งทางสังคมก็มีส่วนต่อการตัดสินว่าผู้ใดควรจะไหว้อีกผู้หนึ่งก่อนเช่นกัน การไหว้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความเคารพและความนับถือแก่อีกผู้หนึ่ง
ศิลปะ
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จิตรกรรมไทยเป็นลักษณะอุดมคติ เป็นภาพ 2 มิติ โดยนำสิ่งใกล้ไว้ตอนล่างของภาพ สิ่งไกลไว้ตอนบนของภาพ ใช้สีแบบเอกรงค์ คือ ใช้หลายสี แต่มีสีที่โดดเด่นเพียงสีเดียว
ประติมากรรมไทยเดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้ แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก
สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอยสมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง
อาหารไทย
แกงมัสมั่น
อาหารไทยเป็นการผสมผสานรสชาติความหวาน ความเผ็ด ความเปรี้ยว ความขมและความเค็ม ส่วนประกอบซึ่งมักจะใช้ในการปรุงอาหารไทย รวมไปถึง กระเทียม พริก น้ำมะนาว และน้ำปลา และวัตถุดิบสำคัญของอาหารในประเทศไทย คือ ข้าว โดยมีข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือเป็นพื้น มีคุณลักษณะพิเศษ คือ ให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และให้สรรพคุณทางยาและสมุนไพร ตามสถิติพบว่า ชาวไทยรับประทานข้าวขาวมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของคนไทย คือ น้ำพริกปลาทู พร้อมกับเครื่องเคียงที่จัดมาเป็นชุด ส่วนอาหารที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้นคือ ต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2554 เว็บไซต์ CNNGO ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
วัฒนธรรมสมัยนิยมได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของคนไทย โดยหันมาบริโภคอาหารจานด่วนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคจากภาวะโภชนาการเกิน แต่กลับไม่สามารถขจัดโรคขาดสารอาหารได้
ภาพยนตร์ไทย
จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ ดาราคู่แรกของไทย
ภาพยนตร์ไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในเมืองไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้าง คือ บริษัทภาพยนตร์ ยูนิเวอร์ซัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย พ.ศ. 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย
ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ถือเป็นช่วงยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย สตูดิโอถ่ายทำและภาพยนตร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นประเทศไทยเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงซบเซาของภาพยนตร์ไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมา ได้เปลี่ยนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรแทน และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมือง และสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2529 ต่อมาภาพยนตร์ไทยในช่วงปี พ.ศ. 2530-2539 โดยในตอนต้นทศวรรษวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ นอกจากภาพยนตร์ประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ และหนังเกรดบี ก็มีการผลิตมามากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีภาพยนตร์ที่มุ่งสู่ตลาดโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ที่สามารถขึ้นไปอยู่บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐอเมริกา และยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์ ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ดนตรีไทย
ดนตรีในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่างๆ ดนตรีไทยเป็นดนตรีที่มีความไพเราะน่าฟัง มี 4 ประเภท ได้แก่ ดีด สี ตี เป่า ในอดีตดนตรีไทยนิยมเล่นในการขับลำนำและร้องเล่น ต่อมามีการนำเอาเครื่องดนตรีจากต่างประเทศเข้ามาผสม ดนตรีไทยนิยมเล่นกันเป็นวง เช่น วงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย วงมโหรี ดนตรีไทยเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยใช้ประกอบงานมงคล งานอวมงคล ฯลฯ ในปัจจุบัน ดนตรีไทยไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันแพร่หลายนักเนื่องจากหาดูได้ยาก คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยรู้จักดนตรีไทยสักเท่าไรนัก
นาฏศิลป์ไทย
การแสดงนาฏศิลป์ไทยที่มีลักษณะงดงาม อ่อนช้อย
นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป
เทศกาลประเพณี
การปล่อยโคมลอยในงานประเพณียี่เป็ง
เทศกาลประเพณีในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายและอลังการแต่ก็มีบ้างพื้นที่ที่เทศกาลประเพณีในประเทศไทยนั้นรับอิทธิพลมาจากประเทศอื่น เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลวันสงกรานต์ เทศกาลวันคริสต์มาส ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประเพณีลอยกระทง ประเพณียี่เป็ง ฯลฯ
วันสำคัญ
วันสำคัญในประเทศไทยมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่มิใช่วันหยุดราชการ และตั้งขึ้นเนื่องในเหตุการณ์สำคัญ วันสำคัญอาจจะมาจากวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน อนึ่ง ปัจจุบัน วันเฉลิมฉลองของชาติไทย คือ วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น