วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร


               นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม
       
          ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศและองค์การท้องถิ่น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และยังได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมือง และด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ให้ความร่วมมือกับองค์การท้องถิ่น อาทิ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเคยส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก, บุรุนดี และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างตกต่ำ


                                                                    เรือหลวงจักรีนฤเบศร

           กองทัพไทยแบ่งออกเป็นสามเหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก, ราชนาวี และกองทัพอากาศ ทุกวันนี้กองทัพไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้นราว 1,025,640 นาย และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย พระมหากษัตริย์ไทยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยพฤตินัย ซึ่งปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ในทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สั่งการ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย มีผู้บัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้สั่งการ เมื่อปี พ.ศ. 2553 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 154,032,478,600 บาท

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่าการป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร กองทัพจะเรียกเกณฑ์ชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 21 ปี โดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยจะถูกเรียกมาตรวจเลือกหรือรับเข้ากองประจำการ

          ระยะเวลาทำการฝึกอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา การศึกษาวิชาทหาร และการสมัครเข้าเป็นทหาร โดยถ้าผู้รับการตรวจเลือกสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หากจับได้สลากแดง (ใบแดง) จะต้องรับราชการ 1 ปีเต็ม หรือหากสมัครโดยไม่จับสลาก จะรับราชการเพียง 6 เดือน เป็นต้น ผู้ที่จับได้สลากดำ (ใบดำ) ไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร ถ้านักศึกษาวิชาทหารสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 1 จะต้องรับราชการ 1 ปีเต็ม ถ้าสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 2 จะต้องรับราชการ 6 เดือน และถ้าสำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 3-5 ไม่ต้องบรรจุในกองประจำการ แต่สามารถเรียกพลได้ ในฐานะทหารกองหนุนประเภท 1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น