วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน


ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน



        การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate  Change) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United  Nation  Framework  Convention  on  Climate  Change : UNFCCC) คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของอากาศซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  อันทำให้ส่วนประกอบของบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป  นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน

        ปรากฏการณ์เรือนกระจก  นับเป็นสาเหตุพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  โดยที่โลกมีระบบควบคุมอุณหภูมิของสภาพบรรยากาศอยู่แล้ว  โดยรังสีจากดวงอาทิตย์จะแผ่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศและให้ความร้อนแก่โลก  พลังงานบางส่วนทำให้โลกอบอุ่น  ก่อนจะถูกแผ่กลับออกห้วงอวกาศในรูปรังสีอินฟราเรด  โดยในภาวะปกติรังสีอินฟราเรดที่ถูกแผ่ออกไปบางส่วนจะถูกชั้นบรรยากาศของโลกกักเก็บไว้ตามธรรมชาติ  ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับพอเหมาะ

        โลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่ชั้นบรรยากาศของโลกกลับหนาขึ้น  เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ  เมื่อชั้นบรรยากาศหนาขึ้น  จะกักเก็บรังสีอินฟราเรดซึ่งควรจะหลุดลอดไปสู่ห้วงอวกาศ  ผลที่ตามมา  คืออุณหภูมิของบรรยากาศโลก  และมหาสมุทร  กลับอุ่นขึ้นจนอยู่ในระดับอันตราย


         ภาวะโลกร้อนส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น  โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2538 – 2549 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ตั้งแต่  พ.ศ. 2539  และเกิดเหตุการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลายระดับน้ำทะเลสูงขึ้น  รวมทั้งเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก  เช่น  เฮอริเคน  ไต้ฝุ่น  โคลนถล่ม  ภัยแล้ง  และน้ำท่วม  ในทั่วภูมิภาคเอเชียและอเมริกากลาง  ในขณะที่ทวีปยุโรปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของกลไกธรรมชาติของโลกที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

        จากสถานการณ์โลกร้อน  จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ในหลายด้าน (IPCC, 2002)  คือ

1)  ผลกระทบต่อความมั่นคงของแหล่งอาหารและน้ำจืด  ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพทางการเกษตร  ปศุสัตว์และการประมงลดลง

2) ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ  พืชและสัตว์บางชนิดสูญพันธ์  มีผลต่อสมดุลระบบนิเวศน์

3) ผลกระทบต่อการอพยพถิ่นฐานของประชาชกรโลกเนื่องจากภัยธรรมชาติ  เช่น  น้ำท่วม  ความแห้งแล้ง  และความขัดแย้งจากการขาดแคลนอาหารเพื่อแย่งหาแหล่งน้ำและพื้นที่ทำกิน

4) ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย  การแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ เจ็บป่วยจากอุณหภูมิสูง และเครียดจากการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อย

           ปัจจุบันการรับรู้และทัศนคติของสาธารณชนในความห่วงใยต่อสาเหตุและความสำคัญของปรากฏการณ์โลกร้อนมีมากขึ้น  และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ชาติต่าง ๆ รวมทั้งชุมชนและองค์การในภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มปฏิบัติการเพื่อหยุดการร้อนขึ้นของโลก

            ข้อตกลงอันกับต้นของโลกว่าด้วยการต่อสู้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกคือ  พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ซึ่งเป็นกฏหมายระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดพันธกรณีที่จะทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นจริงในทางปฏิบัติมากขึ้นจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยได้เจรจาต่อรองและตกลงกันเมื่อปี พ.ศ. 2540  ปัจจุบันพิธีสารดังกล่าวครอบคลุมประเทสค่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า  160  ประเทศและรวมปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า  65 % ของทั้งโลก

            หลักการสำคัญของพิธีสารฯ ใช้หลักการรับผิดชอบโดยแบ่งกลุ่มประเทศตามระดับแตกต่างกันทั้งจากปัจจัยเกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ  และสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกล่าวคือ

            ประเทศอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหา  และประเทศกำลังพัฒนาดำเนินการตามกำลังและความสามารถ  นโยบายและข้อตกลงในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว (43 ประเทศ)  มีพันธกรณีที่ต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามอนุสัญญาฯ  ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ (เช่น ASEAN  จีน อินเดีย)  ไม่มีพันธกรณีในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ทำให้สหรัฐฯ ใช้อ้างเป็นเหตุผลที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันในพิธีสารดังกล่าว  ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก (IPCC.2002)

            สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพราะยังมีการยกเว้นให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกมากกว่าร้อยละ 80 ของประเทศที่ลงนามทั้งหมด  รวมทั้งประเทศที่เป็นศูนย์รวมประชากรที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ  จีน  และอินเดีย  อย่างไรก็ดี  ยังมีรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่ริเริ่มโครงการรณรงค์วางแนวปฏิบัติของตนเองให้เป็นไปตามพิธีสารเกียวโตตัวอย่างเช่น  การริเริ่มก๊าซเรือนกระจกภูมิภาค  ซึ่งเป็นโปรแกรมการหยุดและซื้อเครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับรัฐ

           นอกจากนี้  ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาใหม่ (nowly developed economies) อย่างประเทศจีนและอินเดีย  ว่าควรบังคับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด  โดยมีการคาดกันว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมของประเทศจีนจะสูงกว่าอัตราการปล่อยของสหรัฐฯ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

           สถานการณ์ภาวะโลกร้อน  ทำให้เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศ  ฤดูกาล  และปริมาณน้ำฝน  ล้วนมีผลกระทบต่อประเทสไทยไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในโลก  โดยสังเกตุได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีทั้งภัยแล้ง  พายุ  และน้ำท่วม  ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เห็นได้ชัดเจนในระยะสั้นแก่ประเทศไทยได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก  โดยผลกระทบดังกล่าว  อาจส่งผลต่อสถานะของไทยในการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลก  รวมถึงการส่งเสริมยุทธศาสตร์การค้าครัวไทยสู่ครัวโลก

            โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย  ได้แก่  ข้าว  เนื่องจากมีรายงานการวิจัยจากสถาบันข้าวนานาชาติในประเทศจีนพบว่า  อุณหภูมิที่สูงขึ้นในนาข้าวมีผลต่อละอองเรณูซึ่งอ่อนไหวต่ออุณหภูมิอย่างมาก  ทำให้ผสมไม่ติดข้าว  โดยในรวงข้าวไม่มีเมล็ด  จากผลรายงานดังกล่าวย่อมมีผลต่อภาคการผลิตและการส่งออกข้าวของไทยในอนาคต  หากปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น

            ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2542  และเดือนสิงหาคม  ปี พ.ศ. 2545  ตามลำดับ  พิธีสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  16  กุมภาพันธ์  แม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตามบัญชีประเทศของอนุสัญญาฯ ที่ไม่มีพันธกรณีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  แต่มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean  Development  Mechanism : CDM) ตามพิธีสาร ฯ ได้  ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้เริ่มวางแผนการดำเนินงานตามพิธีสาร ฯ ในการทำ  CDM  เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากโครงการนี้ในหลายด้าน  เช่น  ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศ  มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่สะอาด  และถ่ายทอดเทคโนโลยี  และความรู้ด้านการจัดการ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้แพร่หลายในประเทศ  เป็นต้น

             จากการศึกษาสถานการณ์ภาวะโลกร้อนข้างต้น  แม้จะเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยอาจสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในด้านต่าง ๆ จากภาวะโลกร้อนได้  โดยจะเชื่อมโยงโอกาสดังกล่าวตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์  ดังนี้

การผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด

        สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ โดยพัฒนาสินค้า/เทคโนโลยีที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก  หรือสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณน้อยลง  โดยครอบคลุมสินค้าตั้งแต่ของใช้สอยประจำวัน  จนถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งภาคบริการที่เน้นกิจกรรมช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

        เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยต่อการค้าระหว่างประเทศในอนาคตที่อาจมีการพัฒนาเงื่อนไขของการกีดกันการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะมาตรการป้องกันภาวะโลกร้อน  โดยอาจระบุสินค้าที่จะนำเข้าประเทศนั้น  ในกระบวนการผลิตต้องไม่มส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศ  หากผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานเหล่านี้  อาจสูญเสียโอกาสทางการตลาดของโลกได้

มุ่งพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร

            สร้างเกราะป้องกันแก่สินค้าเกษตรไทยจากภาวะโลกร้อน  โดยประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง  ให้ตระหนักต่อผลกระทบของโลกร้อนต่อผลผลิตทางการเกษตรเพื่อกระตุ้นให้มีการวิจัยด้านการพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น  โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว  ให้มีความทนต่ออุณหภูมิสูง  แต่ยังให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ  เพื่อประเทศไทยจะมีผลผลิตทางการเกษตรสนองตอบต่อความต้องการของตลาดในประเทศ  และสามารถรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตร  แม้จะมีการแปรปรวนทางสภาพอากาศมากขึ้นในอนาคต

           ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อผลผลิตทางการเกษตร  การติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศคู่แข่งทางด้านสินค้าเกษตร  ควบคู่ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ช่วยให้สามารถประเมินสถานการณ์อุปสงค์อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลก  และกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากขึ้น

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากโครงการ กลไกการพัฒนาที่สะอาด



        การใช้ประโยชน์จากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด  (Clean  Development  Mechanism: CDM)  ตามพิธีสารเกียวโต  ซึ่งเป็นกลไกตามข้อตกลงเกียวโตที่ให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา  และนำปริมาณก๊าซฯ ที่ลดได้ไปคำนวณเป็นเครดิตของประเทศตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายตามพันธกรณี  ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับประโยชน์ด้านการลงทุน  เช่น  เทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด  การถ่ายทอดเทคโนโลยี  การจ้างงาน  และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น



อ้างอิง http://www.baanjomyut.com/library/global_warming/thai_global_warming.html
รูปภาพได้มาจาก https://www.google.co.th/search?um=1&hl=th&q=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&biw=1280&bih=656&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi&ei=8N1-T9KGHo6nrAfBxr3oBQ

สภาวะโลกร้อน


อ้างอิง http://www.youtube.com/watch?v=vehCQBsHQAA

ประเทศไทยกับเศรษฐกิจพอเพีย


ประเทศไทยกับเศรษฐกิจพอเพีย


ที่มาของรูปภาพ : http://www.mylifewithhismajestytheking.com/freepage/images/a_economist01/sample_a_economist01.jpg

          เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน ซึ่งก็คือ หลักในการลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่หมายความถึง การกระเบียดกระเสียนจนเกินสมควร หากแต่อาจฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มักใช้จ่ายเกินตัว เกินฐานะที่หามาได้   เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้  เช่น โดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงควรเน้นที่เศรษฐกิจการเกษตร เน้นความมั่นคงทางอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงให้เป็นระบบเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง จึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเสี่ยง หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

          โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม
  •  จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
          ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

          สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย

           แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่มสูญหายไป

          สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้องการต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
  •  พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง 

          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)

          “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

          “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)

          พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
         
           ซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นงคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป
                   ทรงเตือนเรื่องพออยู่พอกิน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ คือ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว 
                   แต่ทิศทางการพัฒนามิได้เปลี่ยนแปลง 
            “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...” (๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)

เศรษฐกิจพอเพียง 

          “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 


          เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
           ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ 

๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

           โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ  ดังนี้

๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ

๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง 

          “...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”
พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙

           “...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

           “...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทย เรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

           “...เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนเห็นว่ามีคนจน คนเดือดร้อน จำนวนมากพอสมควร แต่ใช้คำว่า พอสมควรนี้ หมายความว่าตามอัตตภาพ...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

           “...ที่เป็นห่วงนั้น เพราะแม้ในเวลา ๒ ปี ที่เป็นปีกาญจนาภิเษกก็ได้เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อนมาก และมีสิ่งที่ควรจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปทุกด้าน มีภัยจากธรรมชาติกระหน่ำ ภัยธรรมชาตินี้เราคงสามารถที่จะบรรเทาได้หรือแก้ไขได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาพอใช้ มีภัยที่มาจากจิตใจของคน ซึ่งก็แก้ไขได้เหมือนกัน แต่ว่ายากกว่าภัยธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งนอกกายเรา แต่นิสัยใจคอของคนเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากให้จัดการให้มีความเรียบร้อย แต่ก็ไม่หมดหวัง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

           “...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙.

           “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

          “...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

           “...ไฟดับถ้ามีความจำเป็น หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ เรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

           “...โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน กิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

          “...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”
พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
  • การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริพอเพียง 

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าใจถึงสภาพสังคมไทย ดังนั้น เมื่อได้พระราชทานแนวพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทในด้านต่างๆ จะทรงคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติได้

แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง

๑. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
๒. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
๔. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
๕. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
  • ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง 
  •   ทฤษฎีใหม่
           ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก
                   ความเสี่ยงที่เกษตรกร มักพบเป็นประจำ ประกอบด้วย
๑. ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร
๒. ความเสี่ยงในราคาและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศ
๓. ความเสี่ยงด้านน้ำ ฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง
๔. ภัยธรรมชาติอื่นๆ และโรคระบาด
๕. ความเสี่ยงด้านแบบแผนการผลิต
- ความเสี่ยงด้านโรคและศัตรูพืช
- ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน
- ความเสี่ยงด้านหนี้สินและการสูญเสียที่ดิน
ทฤษฎีใหม่ จึงเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  •   ทฤษฎีใหม่


            ความสำคัญของทฤษฎีใหม่ 
๑. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
๒. มีการคำนวณโดยใช้หลักวิชาการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี
๓. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีถึง ๓ ขั้นตอน

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น 
          ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง
           พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำต่างๆ
            พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
            พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
            พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ ๑๐% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ


ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง 
            เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
            (๑) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
              - เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่ม ตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่นๆ เพื่อการเพาะปลูก
            (๒) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
              - เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
           (๓) การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
              - ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่างๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
           (๔) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
              - แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
           (๕) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
              - ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชมชนเอง
           (๖) สังคมและศาสนา
              - ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
          โดยกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ


ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม 
           เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต
            ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
             - เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
             - ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
              - เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
              - ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
  •  หลักการและแนวทางสำคัญ 
๑. เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกับการ “ลงแขก” แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานด้วย

๒. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาประมาณ ๕ ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ

๓. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก ๑ ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา ๕ ไร่ ทำพืชไร่ หรือไม้ผลอีก ๕ ไร่ (รวมเป็น ๑๐ ไร่) จะต้องมีน้ำ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ดังนั้น หากตั้งสมมติฐานว่า มีพื้นที่ ๕ ไร่ ก็จะสามารถกำหนดสูตรคร่าวๆ ว่า แต่ละแปลง ประกอบด้วย
                        - นาข้าว ๕ ไร่
                        - พืชไร่ พืชสวน ๕ ไร่
                        - สระน้ำ ๓ ไร่ ขุดลึก ๔ เมตร จุน้ำได้ประมาณ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ยามฤดูแล้ง
                        - ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ๒ ไร่
                        รวมทั้งหมด ๑๕ ไร่
                        แต่ทั้งนี้ ขนาดของสระเก็บน้ำขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ดังนี้
                        - ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝน สระน้ำควรมีลักษณะลึก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยได้มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
                        - ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระน้ำอาจมีลักษณะลึก หรือตื้น และแคบ หรือกว้างก็ได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะสามารถมีน้ำมาเติมอยู่เรื่อยๆ
                        การมีสระเก็บน้ำก็เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอทั้งปี (ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึงการควบคุมให้ดี มีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้งและระยะฝนทิ้งช่วง แต่มิได้หมายความว่า เกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เพราะหากน้ำในสระเก็บน้ำไม่พอ ในกรณีมีเขื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียงก็อาจจะต้องสูบน้ำมาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้น้ำในเขื่อนหมดได้ แต่เกษตรกรควรทำนาในหน้าฝน และเมื่อถึงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรใช้น้ำที่เก็บตุนนั้น ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอย่างสูงสุด โดยพิจารณาปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อจะได้มีผลผลิตอื่นๆ ไว้บริโภคและสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี

๔. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ ๑๕ ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ เป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนแรก ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ ได้ด้วย) บนสระอาจสร้างเล้าไก่และบนขอบสระน้ำอาจปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ใช้น้ำมากโดยรอบได้
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนที่สอง ทำนา
                                    ร้อยละ ๓๐ ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้เพื่อเป็นเชื้อฟืน ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น)
                                    ร้อยละ ๑๐ สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (ทางเดิน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตร หรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุก หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง ก็อาจลดขนาดของบ่อ หรือสระเก็บน้ำให้เล็กลง เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโชน์อื่นต่อไปได้

๕. การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ มีปัจจัยประกอบหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น เกษตรกรควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้วย และที่สำคัญ คือ ราคาการลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดสระน้ำ เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนราชการ มูลนิธิ และเอกชน

๖. ในระหว่างการขุดสระน้ำ จะมีดินที่ถูกขุดขึ้นมาจำนวนมาก หน้าดินซึ่งเป็นดินดี ควรนำไปกองไว้ต่างหากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่างๆ ในภายหลัง โดยนำมาเกลี่ยคลุมดินชั้นล่างที่เป็นดินไม่ดี หรืออาจนำมาถมทำขอบสระน้ำ หรือยกร่องสำหรับปลูกไม้ผลก็จะได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง

            ตัวอย่างพืชที่ควรปลูกและสัตว์ที่ควรเลี้ยง 
ไม้ผลและผักยืนต้น : มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน ละมุด ส้ม กล้วย น้อยหน่า มะละกอ กะท้อน แคบ้าน มะรุม สะเดา ขี้เหล็ก กระถิน ฯลฯ

ผักล้มลุกและดอกไม้ : มันเทศ เผือก ถั่วฝักยาว มะเขือ มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก และซ่อนกลิ่น เป็นต้น

เห็ด : เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น

สมุนไพรและเครื่องเทศ : หมาก พลู พริกไท บุก บัวบก มะเกลือ ชุมเห็ด หญ้าแฝก และพืชผักบางชนิด เช่น กะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น

ไม้ใช้สอยและเชื้อเพลิง : ไผ่ มะพร้าว ตาล กระถินณรงค์ มะขามเทศ สะแก ทองหลาง จามจุรี กระถิน สะเดา ขี้เหล็ก ประดู่ ชิงชัน และยางนา เป็นต้น

พืชไร่ : ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย มันสำปะหลัง ละหุ่ง นุ่น เป็นต้น พืชไร่หลายชนิดอาจเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตยังสดอยู่ และจำหน่ายเป็นพืชประเภทผักได้ และมีราคาดีกว่าเก็บเมื่อแก่ ได้แก่ ข้าวโพด ถัวเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย และมันสำปะหลัง

พืชบำรุงดินและพืชคลุมดิน : ถั่วมะแฮะ ถั่วฮามาต้า โสนแอฟริกัน โสนพื้นเมือง ปอเทือง ถั่วพร้า ขี้เหล็ก กระถิน รวมทั้งถั่วเขียวและถั่วพุ่ม เป็นต้น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วไถกลบลงไปเพื่อบำรุงดินได้

หมายเหตุ : พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งชนิด และการเลือกปลูกพืชควรเน้นพืชยืนต้นด้วย เพราะการดูแลรักษาในระยะหลังจะลดน้อยลง มีผลผลิตทยอยออกตลอดปี ควรเลือกพืชยืนต้นชนิดต่างๆ กัน ให้ความร่มเย็นและชุ่มชื้นกับที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และควรเลือกต้นไม้ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เช่น ไม่ควรปลูกยูคาลิปตัสบริเวณขอบสระ ควรเป็นไม้ผลแทน เป็นต้น

สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้แก่
                        สัตว์น้ำ : ปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก เพื่อเป็นอาหารเสริมประเภทโปรตีน และยังสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย ในบางพื้นที่สามารถเลี้ยงกบได้
                        สุกร หรือ ไก่ เลี้ยงบนขอบสระน้ำ ทั้งนี้ มูลสุกรและไก่สามารถนำมาเป็นอาหารปลา บางแห่งอาจเลี้ยงเป็ดได้

            ประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ 

๑. ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

๒. ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่างๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนชลประทาน

๓. ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้โดย
ไม่เดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ

๔. ในกรณีที่เกิดอุทกภัย เกษตรกรสามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากนัก ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย
  • ทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์                  
          ทฤษฎีใหม่ที่ดำเนินการโดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำฝน จะอยู่ในลักษณะ “หมิ่นเหม่” เพราะหากปีใดฝนน้อย น้ำอาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้น การที่จะทำให้ทฤษฎีใหม่สมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีสระเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถ โดยการมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเพิ่มเติมน้ำในสระเก็บกักน้ำให้เต็มอยู่เสมอ ดังเช่น กรณีของการทดลองที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี

ระบบทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์
อ่างใหญ่ เติมอ่างเล็ก อ่างเล็ก เติมสระน้ำ
      
          จากภาพ วงกลมเล็ก คือสระน้ำที่เกษตรกรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระน้ำไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ซึ่งได้ทำระบบส่งน้ำเชื่อมต่อทางท่อลงมายังสระน้ำที่ได้ขุดไว้ในแต่ละแปลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดปี

          กรณีที่เกษตรกรใช้น้ำกันมาก อ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้วิธีการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ่างใหญ่) ต่อลงมายังอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็จะช่วยให้มีปริมาณน้ำมาเติมในสระของเกษตรกรพอตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องเสี่ยง

          ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จากระบบส่งท่อเปิดผ่านไปตามแปลงไร่นาต่างๆ ถึง ๓-๕ เท่า เพราะยามหน้าฝน นอกจากจะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำแล้ว ยังมีน้ำในสระของราษฎรเก็บไว้พร้อมกันด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มอย่างมหาศาล น้ำในอ่างที่ต่อมาสู่สระจะทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำสำรอง คอยเติมเท่านั้นเอง
  •  แปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา 
ท่านที่สนใจสามารถขอคำปรึกษาและเยี่ยมชมแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ได้ ดังนี้

๑. สำนักบริหารโครงการ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๒ ๔๔๒๕  โทรสาร ๐ ๒๒๘๒ ๓๓๔๑

๒. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๖๔๙ ๙๑๘๑

๓. โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ (ทฤษฎีใหม่) อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๒๓๓ ๗๔๐๗

๔. โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๓๒๕๙ ๔๐๖๗

๕. โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๔๓๘๕ ๙๐๘๙

๖.โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
โทรศัพท์ / โทรสาร ๐ ๔๔๓๒ ๕๐๔๘

อ้างอิง http://www.thaigoodview.com/node/87945
http://www.chaipat.or.th/chaipat/content/porpeing/porpeing.html

เศรษฐกิจพอเพียง


อ้างอิง http://www.youtube.com/watch?v=7BmLyQhbtjs

ไทยกับอาเซียน


ไทยกับอาเซียน
          ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งและเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน ไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความ ร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทยโดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียนได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยส่วนรวม

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย


  1. ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร
  2. ด้านอุตสาหกรรม ไทยได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหิน และโซดาแอช ตัวถังรถยนต์
  3. ด้านการธนาคาร จัดตั้งบรรษัทการเงินของอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน
  4. ด้านการเกษตร การสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า
  5. ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ
  6. ด้านวัฒนธรรม มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน
          ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ในส่วนของการก่อตั้ง ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ. 2510 ในส่วนของการพัฒนา ไทยยังมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
  • มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในกัมพูชา
  • การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535
  • ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537
  • ความริเริ่มเชียงใหม่และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540
          การก่อตั้งในช่วงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความคุกกรุ่นของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างประเทศมหาอำนาจในโลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางความหวาดวิตกของประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาที่หวั่นเกรงถึงการแพร่ขยายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ของรัสเซียและจีนที่จะครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามทฤษฎีโดมิโน 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น กรณีเวียดนามรุกรานกัมพูชาเมื่อเดือนธันวาคม 1978 (พ.ศ.2521) โดยอาเซียนได้ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลในพนมเปญที่ตั้งคณะรัฐบาลด้วยการยึดครองของกองทัพเวียดนาม พร้อมกับเรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในเดือนกันยายน 1989 (พ.ศ.2532) หรือการก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเออาร์เอฟ ภายหลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาในปี 1993 (พ.ศ.2536) เพื่อให้เป็นเวทีที่ขยายกว้างขึ้นในการหารือประเด็นเรื่องความมั่นคง

           ส่วนในประเด็นเศรษฐกิจ อาเซียนได้มีการบรรลุข้อตกลงในการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จากการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ได้กำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) พร้อมมุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิต โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดเงินทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม กรอบความร่วมมือด้านกฎหมาย การพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือ

          การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ปี 2535 (ค.ศ. 1992) ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
  • มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก
  • โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี 
          ตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ. 1997) อาเซียนได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยได้มีการแถลง ASEAN Vision 2020 ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting – AFMM)1/ และความร่วมมือกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

         จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ปี 2550 (ค.ศ. 2007) ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบที่จะให้เร่งการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยได้ร่วมลงนามในแผนการดำเนินงานไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint – AEC Blueprint)

          ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนยังได้ให้การรับรองกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกรอบทางสถาบันและกฎหมายสำหรับอาเซียนในการเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำในภูมิภาค โดยกฎบัตรอาเซียนจะมีผลบังคับใช้หลังประเทศสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบัน

ประชาคมอาเซียน2558 ต้องรับมืออย่างไร

 อ้างอิง http://www.youtube.com/watch?v=Ku-2hE4a1cY&feature=related

กระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)


กระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)

          กระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย (อังกฤษ: Ministry of Public Health of Thailand) เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี


สำนัก

เลขที่ 88/20 หมู่ที่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000

ภาพรวม

วันก่อตั้ง           พ.ศ. 2485
งบประมาณ   86,904.5 ล้านบาท (พ.ศ. 2554)[1]
รัฐมนตรีว่าการ

                          วิทยา บุรณศิริ, รัฐมนตรี
                          สุรวิทย์ คนสมบูรณ์, รัฐมนตรีช่วย
ผู้บริหาร           ไพจิตร์ วราชิต, ปลัด
                           อภิชัย มงคล, รองปลัด
                           นิทัศน์ รายยวา, รองปลัด
                           โสภณ เมฆธน, รองปลัด
                           สมชัย นิจพานิช, รองปลัด
                           วุฒิไกร มุ่งหมาย, สาธารณสุขนิเทศก์
เว็บไซต์              MOPH.go.th



ประวัติ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรมการพยาบาลขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 เพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาลสืบแทนคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลวังหน้า กรมพยาบาลมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่น ๆ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน

          พ.ศ. 2432 กรมพยาบาลก็ย้ายมาสังกัดในกระทรวงธรรมการ เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นในบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่วยในราคาถูกและตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด

          พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมพยาบาลและตำแหน่งอธิบดีกรมพยาบาล อธิบดีกรมพยาบาลคนสุดท้ายคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา และให้โรงพยาบาลอื่นที่สังกัดกรมพยาบาลไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงศิริราชพยาบาล คงให้เป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย ส่วนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมือง ยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการตามเดิม

          พ.ศ. 2451 กระทรวงมหาดไทยได้ขอโอนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรค และแพทย์ประจำเมืองมาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในชั้นแรกให้สังกัดอยู่ในกรมพลำภังค์

          ต่อมากระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาลให้กว้างขวางและก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อกรมพยาบาลเป็นกรมประชาภิบาล และได้รับพระบรมราชานุญาตตามสำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2459

          ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้ประกาศตั้งกรมสาธารณสุข โดยเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข

ตรากระทรวงสาธารณสุข



















หน้าที่และความรับผิดชอบ


บทบาท  หน้าที่ และความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ดูแลเด็ก หรือพี่เลี้ยงเด็ก
       เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ในช่วงที่เด็กอยู่ศูนย์ และเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กมากที่สุด ผู้ดูแลเด็กจึงควรรับรู้นโยบาย   เข้าใจแนวทางการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ และได้รับการ ฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้  ผู้ดูแลเด็กยังควรได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างด้านสุขภาพสำหรับเด็ก

2. ผู้บริหารศูนย์เด็กเล็ก หรือผู้ประกอบการศูนย์เด็กเล็ก 
       เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการประสานงานกับบุคคล และหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุน หรือที่ต้องการขอรับการสนับสนุน และที่สำคัญต้องบริหารจัดการบุคลากร งบประมาณ  สถานที่ที่มีอยู่ให้สามารถพัฒนาเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ และได้มาตรฐาน

3. ผู้ปกครองเด็ก  
         เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถร่วมดูแลช่วยการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ โดยอาจเข้ามาเป็นกรรมการ  วิทยากร หรืออาสาสมัครช่วยดูแลเด็ก ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจปัญหาและความต้องการของศูนย์เด็กเล็กจะได้ให้การสนับสนุนได้  ความสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีระหว่างบุคลากรของศูนย์เด็กเล็กกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการดำเนินงาน

4. ชุมชนโดยรอบศูนย์เด็กเล็ก
       นอกจากผู้ปกครองเด็กแล้ว ในชุมชนยังมีบุคคลที่แม้ไม่ได้มีลูกหลานอยู่ในศูนย์เด็กเล็ก แต่ก็มีศักยภาพที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กอีกมาก เช่น ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  หลวงพ่อที่วัด เถ้าแก่  ร้านค้า หรือมูลนิธิ ชมรมต่าง ๆ  เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ในชุมชนสามารถช่วยสนับสนุนแรงความคิด แรงกาย และทุนทรัพย์ แก่ศูนย์เด็กเล็กได้ หากได้รับรู้และเข้าใจการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เนื่องจากมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง   สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุน  บางแห่งมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านต่าง ๆ ที่สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารศูนย์เด็กเล็กได้ นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานที่สามารถเป็นแกนนำในการระดมความร่วมมือต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

6. องค์กรส่วนภูมิภาค
       เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากศูนย์อนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีบทบาทสำคัญในการไปช่วยกระตุ้นผู้เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล อบต. และผู้บริหารศูนย์เด็กเล็กให้เห็นความสำคัญ และสมัครเข้าร่วมโครงการ  และเจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ยังมีศักยภาพในการให้ความรู้และความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานและวิธีการต่าง ๆ ตลอดจนให้คำแนะนำ ปรึกษา ด้านวิชาการ ติดตาม ประเมินผล และการประกันคุณภาพ

7. องค์กรส่วนกลาง
       ผู้รับผิดชอบในส่วนกลาง ทั้งจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักส่งเสริมสุขภาพ กองวิชาการต่าง ๆ ในกรมอนามัย  ตลอดถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค มีบทบาทหลักในการสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางวิชาการ เกณฑ์มาตรฐาน และการประเมินผล ประสานนโยบายกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

หน่วยงานในสังกัด


ตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศให้กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการดังต่อไปนี้

ส่วนราชการ

  • สำนักงานรัฐมนตรี
  • สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • กรมการแพทย์
  • กรมควบคุมโรค
  • กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  • กรมสุขภาพจิต
  • กรมอนามัย
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

องค์กรที่มิใช่ส่วนราชการ

  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

รัฐวิสาหกิจ

  • องค์การเภสัชกรรม

องค์การมหาชน

  • โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)
  • สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
อ้างอิง 

 

คำปราศรัย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 27 พฤศจิกายน 2554 โดยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง http://www.youtube.com/watch?v=0oTvwR6a6Ao

กระทรวงศึกษาธิการ (ประเทศไทย)


กระทรวงศึกษาธิการ (ประเทศไทย)





       









ตราพระเพลิงทรงระมาด (ตราเดิม)                                       ตราเสมาธรรมจักร (ตราปัจจุบัน)


สำนัก
319 อาคารราชวัลลภ วังจันทรเกษม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร


ภาพรวม
วันก่อตั้ง          1 เมษายน พ.ศ. 2435
เขตอำนาจ      ทั่วราชอาณาจักร
งบประมาณ     391,131.8 ล้านบาท (พ.ศ. 2554)[1]
รัฐมนตรีว่าการ  

                       สุชาติ ธาดาธำรงเวช, รัฐมนตรี
                       ศักดา คงเพชร, รัฐมนตรีช่วย
ผู้บริหาร          ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์, ปลัด
                       นิวัตร นาคะเวช, รองปลัด 1
                       สมบัติ สุวรรณพิทักษ์, รองปลัด 2
                       จุไรรัตน์ แสงบุญนำ, รองปลัด 3
ลูกสังกัด         ดูในบทความ
เว็บไซต์          www.moe.go.th


           กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมทางการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพ ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการศึกษา เน้นให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสศึกษาต่อสูงขึ้นทั้งในท้องถิ่นและสถาบันเปิด เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้บริการแก่สังคม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษให้ได้เรียนและแสดงออกในทางที่เหมาะสม

ประวัติ

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการก่อตั้ง "กระทรวงธรรมการ" ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ซึ่งกระทรวงธรรมการมีการเปลี่ยนชื่อไปมาหลายครั้งระหว่างชื่อ "กระทรวงธรรมการ" และ "กระทรวงศึกษาธิการ" อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ก็ได้ใช้ชื่อว่า "กระทรวงศึกษาธิการ" ตั้งแต่นั้นมา โดยมีที่ทำการอยู่ที่ "วังจันทรเกษม" จนถึงปัจจุบัน

หน่วยงานในสังกัด


  • สำนักงานรัฐมนตรี
  • สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

หน่วยงานอื่นๆ

  • สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  • สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
  • สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)





กระทรวงศึกษาธิการ จัดงาน "อนาคตการศึกษาไทย" (Future of Thai Education) ระหว่างวันที่ ๖-๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อแสดงความก้าวหน้าอนาคตทางการศึกษาของไทย อ้างอิง http://www.youtube.com/watch?v=AIZppIo__b8

เกี่ยวกับประเทศไทย


เกี่ยวกับประเทศไทย



          ประเทศไทยเปรียบเสมือนประตูสู่ใจกลางแห่งเอเชีย เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทย ส่งผลให้การทำการค้ากับประเทศจีน อินเดีย และประเทศต่างๆในแถบอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

          เศรษฐกิจไทยนั้นเป็นแบบการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 60% ของ GDP หรือประมาณสองแสนแปดหมื่นหกพันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2552) โดยการส่งออกของประเทศไทยต่อปีคิดเป็นมูลค่า หนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรมรวมถึง ปลา ข้าว สำหรับข้าวนั้นประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรายที่ใหญ่ที่สุดของโลก และยังรวมถึง สิ่งทอ ยางพารา รถยนต์เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์


          จำนวนประชากรในประเทศมีทั้งสิ้นประมาณหกสิบเจ็ดล้านคน โดยอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทยประมาณ เจ็ดล้านคน นอกจากประเทศไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์หลายอย่าง รวมถึงมีกำลังแรงงานที่มีทักษะ และ มีประสิทธิผลต่อค่าใช้จ่าย รัฐบาลไทยยังได้ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านทักษะเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อประชาชน ประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกในปี 2553 ในรายงานเรื่อง “ความสะดวกในการทำธุรกิจ” โดยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 12 ของโลกในสำหรับความเป็นประเทศที่สามารถทำธุรกิจได้ง่ายที่สุด

           ประเทศไทยยังถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “สยามเมืองยิ้ม” ความเป็นมิตรของชาวไทยจะทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกเสมือนอยู่ที่ประเทศบ้านเกิดของคุณ ด้วยความเป็นมิตรของชาวไทยและความอุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ประเทศไทยที่ให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพ

วัฒนธรรม


วัฒนธรรม

          วัฒนธรรมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอมและดินแดนบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอย่างมาก พุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์และศรัทธาของไทยสมัยใหม่ ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตามกาลเวลา ซึ่งรวมไปถึงการรวมเอาความเชื่อท้องถิ่นที่มาจากศาสนาฮินดู การถือผี และการบูชาบรรพบุรุษ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ซึ่งการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มชาวจีนได้มีตำแหน่งในอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง[ต้องการอ้างอิง]

          วัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวคือ มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ชาวไทยมักจะมีความเป็นเจ้าบ้านและความกรุณาอย่างดี แต่ก็มีความรู้สึกในการแบ่งชนชั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน ความอาวุโสเป็นแนวคิดที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง ผู้อาวุโสจะต้องปกครองดูแลครอบครัวของตนตามธรรมเนียม และน้องจะต้องเชื่อฟังพี่

          การทักทายตามประเพณีของไทย คือ การไหว้ ผู้น้อยมักจะเป็นผู้ทักทายก่อนเมื่อพบกัน และผู้ที่อาวุโสกว่าก็จะทักทายตอบในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน สถานะและตำแหน่งทางสังคมก็มีส่วนต่อการตัดสินว่าผู้ใดควรจะไหว้อีกผู้หนึ่งก่อนเช่นกัน การไหว้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความเคารพและความนับถือแก่อีกผู้หนึ่ง

ศิลปะ


                       พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          จิตรกรรมไทยเป็นลักษณะอุดมคติ เป็นภาพ 2 มิติ โดยนำสิ่งใกล้ไว้ตอนล่างของภาพ สิ่งไกลไว้ตอนบนของภาพ ใช้สีแบบเอกรงค์ คือ ใช้หลายสี แต่มีสีที่โดดเด่นเพียงสีเดียว

           ประติมากรรมไทยเดิมนั้นช่างไทยทำงานประติมากรรมเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป โดยมีสกุลช่างต่างๆ นับตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกว่า สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างสุโขทัย อยุธยา และกระทั่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทองสำริดเป็นวัสดุหลักในงานประติมากรรม เนื่องจากสามารถแกะแบบด้วยขี้ผึ้งและตกแต่งได้ แล้วจึงนำไปหล่อโลหะ เมื่อเทียบกับประติมากรรมศิลาในยุคก่อนนั้น งานสำริดนับว่าอ่อนช้อยงดงามกว่ามาก

          สถาปัตยกรรมไทยมีปรากฏให้เห็นในชั้นหลัง เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมได้ง่าย โดยเฉพาะงานไม้ ไม่ปรากฏร่องรอยสมัยโบราณเลย สถาปัตยกรรมไทยมีให้เห็นอยู่ในรูปของบ้านเรือนไทย โบสถ์ วัด และปราสาทราชวัง ซึ่งล้วนแต่สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้สอยจริง

อาหารไทย


                                                                          แกงมัสมั่น

          อาหารไทยเป็นการผสมผสานรสชาติความหวาน ความเผ็ด ความเปรี้ยว ความขมและความเค็ม ส่วนประกอบซึ่งมักจะใช้ในการปรุงอาหารไทย รวมไปถึง กระเทียม พริก น้ำมะนาว และน้ำปลา และวัตถุดิบสำคัญของอาหารในประเทศไทย คือ ข้าว โดยมีข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือเป็นพื้น มีคุณลักษณะพิเศษ คือ ให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และให้สรรพคุณทางยาและสมุนไพร ตามสถิติพบว่า ชาวไทยรับประทานข้าวขาวมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของคนไทย คือ น้ำพริกปลาทู พร้อมกับเครื่องเคียงที่จัดมาเป็นชุด ส่วนอาหารที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนั้นคือ ต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2554 เว็บไซต์ CNNGO ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก

          วัฒนธรรมสมัยนิยมได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของคนไทย โดยหันมาบริโภคอาหารจานด่วนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคจากภาวะโภชนาการเกิน แต่กลับไม่สามารถขจัดโรคขาดสารอาหารได้

ภาพยนตร์ไทย


                                        จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ ดาราคู่แรกของไทย

          ภาพยนตร์ไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในเมืองไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้าง คือ บริษัทภาพยนตร์ ยูนิเวอร์ซัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย พ.ศ. 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย

          ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ถือเป็นช่วงยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย สตูดิโอถ่ายทำและภาพยนตร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นประเทศไทยเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงซบเซาของภาพยนตร์ไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมา ได้เปลี่ยนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรแทน และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมือง และสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2529 ต่อมาภาพยนตร์ไทยในช่วงปี พ.ศ. 2530-2539 โดยในตอนต้นทศวรรษวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ นอกจากภาพยนตร์ประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ และหนังเกรดบี ก็มีการผลิตมามากขึ้น

          ปัจจุบันประเทศไทยมีภาพยนตร์ที่มุ่งสู่ตลาดโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ที่สามารถขึ้นไปอยู่บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐอเมริกา และยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์ ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ 

ดนตรีไทย

          ดนตรีในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่างๆ ดนตรีไทยเป็นดนตรีที่มีความไพเราะน่าฟัง มี 4 ประเภท ได้แก่ ดีด สี ตี เป่า ในอดีตดนตรีไทยนิยมเล่นในการขับลำนำและร้องเล่น ต่อมามีการนำเอาเครื่องดนตรีจากต่างประเทศเข้ามาผสม ดนตรีไทยนิยมเล่นกันเป็นวง เช่น วงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย วงมโหรี ดนตรีไทยเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยใช้ประกอบงานมงคล งานอวมงคล ฯลฯ ในปัจจุบัน ดนตรีไทยไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันแพร่หลายนักเนื่องจากหาดูได้ยาก คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยรู้จักดนตรีไทยสักเท่าไรนัก



นาฏศิลป์ไทย


                                          การแสดงนาฏศิลป์ไทยที่มีลักษณะงดงาม อ่อนช้อย

          นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป

เทศกาลประเพณี




                                                   การปล่อยโคมลอยในงานประเพณียี่เป็ง

          เทศกาลประเพณีในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายและอลังการแต่ก็มีบ้างพื้นที่ที่เทศกาลประเพณีในประเทศไทยนั้นรับอิทธิพลมาจากประเทศอื่น เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลวันสงกรานต์ เทศกาลวันคริสต์มาส ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประเพณีลอยกระทง ประเพณียี่เป็ง ฯลฯ

วันสำคัญ

           วันสำคัญในประเทศไทยมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่มิใช่วันหยุดราชการ และตั้งขึ้นเนื่องในเหตุการณ์สำคัญ วันสำคัญอาจจะมาจากวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน อนึ่ง ปัจจุบัน วันเฉลิมฉลองของชาติไทย คือ วันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ประชากร


ประชากร

สถิติจำนวนประชากรไทย ตามสำมะโนประชากร พ.ศ. 2453 – 2553
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ครั้ง   ปีที่สำรวจ
        (พ.ศ./ค.ศ.) จำนวน (คน) อัตราเพิ่ม
1 2453 (1910) 8,131,247 -
2 2462 (1919) 9,207,355 + 13.2
3 2472 (1929) 11,506,207 + 25.0
4 2480 (1937) 14,464,105 + 25.7
5 2490 (1947) 17,442,689 + 20.6
6 2503 (1960) 26,257,916 + 50.5
7 2513 (1970) 34,397,371 + 31.0
8 2523 (1980) 44,824,540 + 30.3
9 2533 (1990) 54,548,530 + 21.7
10 2543 (2000) 60,916,441 + 11.7
11 2553 (2010) 65,926,261 + 8.2

ชนชาติ

                                                                 
                                                              แผนที่ชาติพันธุ์ในไทย

          สถิติจำนวนประชากรไทยนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา ทั้งนี้ตามการประมาณของ CIA The World Factbook เมื่อปี พ.ศ. 2553 ประชากรทั้งหมดของประเทศไทยมีประมาณ 66,404,688 คน ประกอบด้วยไทยสยามประมาณร้อยละ 75 ไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 14 ไทยเชื้อสายมลายูร้อยละ 3ประเทศไทยประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน โดยที่ในปี พ.ศ. 2551 อัตราการเกิดของประชากรอยู่ที่ 1.5% และมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือเพียง 1.45% ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราการคุมกำเนิดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคิดเป็น 81% ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเมื่อประกอบกับอัตราการตายที่ลดลงในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากขึ้นในอนาคต

          ในประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีทั้ง ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมไปถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู ชาวชวา (แขกแพ) ชาวจาม (แขกจาม) ชาวเวียด ชาวพม่า และชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ลีซอ ชาวม้ง ส่วย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2553 ตามข้อมูลของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายอยู่ 1.4 ล้านคน โดยมีอีกเท่าตัวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตามข้อมูลการอพยพระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่จำนวน 1.05 ล้านคน คิดเป็น 1.6% ของจำนวนประชากร

          ประเทศไทยมีการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยสนับสนุนความเป็นอิสระในแต่ละเชื้อชาติ ได้มีนักวิชาการตะวันตกเขียนเอาไว้ว่า ประเทศไทยเป็น "สังคมที่มีโครงสร้างอย่างหลวม ๆ"

ศาสนา


จำนวนผู้นับถือศาสนาในประเทศไทย
ศาสนา%
พุทธ
  
93.4%
อิสลาม
  
5.2%
อื่น ๆ
1.4%


          ตามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 93.4 ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย แม้ว่าจะยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดเลยก็ตาม ทั้งนี้ ประเทศไทยถือได้ว่ามีผู้นับถือศาสนาพุทธมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

          รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือประมาณร้อยละ 5.2 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ตอนล่าง ประชาชนในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส บางพื้นที่ของสงขลาและชุมพรนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นอีก เช่น คริสต์ ซิกข์และฮินดู รวมประมาณร้อยละ 1.4 สำหรับประชาคมชาวยิวนั้น มีประวัติยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17

ภาษา

          ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือในภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ในภาคใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้งานภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น

          ภาษาอังกฤษและอักษรอังกฤษมีสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่จำนวนผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวที่มีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น จากที่ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าในปี พ.ศ. 2540 แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 ไทยกลับล้าหลังประเทศลาวและประเทศเวียดนาม

การศึกษา


          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2459

          การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2464 ตามกฎหมายไทย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลา 12 ปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ 9 ปี ระบบโรงเรียนที่ถูกจัดไว้มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นตามลำดับ แต่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว บุคคลสามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเลือกศึกษาสายวิชาชีพ หรืออาจเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ

          ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องผ่านระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งโดยปกติจะเสร็จสิ้นในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียจาก QS Asian University Rankings 2011

          แต่กระนั้น ก็ยังมีการเป็นห่วงในประเด็นทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาของเยาวชนชาวไทย ซึ่งจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นได้รายงานว่า "กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะต้องรับมือกับความฉลาดที่ต่ำลง หลังจากได้พบว่าระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 80" วัชระ พรรณเชษฐ์ได้รายงานในปี พ.ศ. 2549 ว่า "ค่าเฉลี่ยของระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยอยู่ระหว่าง 87-88 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' จากการจัดระดับในระดับสากล" ปัญหาในการศึกษาไทย พบว่าการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนยังจำกัดอยู่มาก

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2