วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลกและเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย (1,910,931 กม.2) และประเทศพม่า (676,578 กม.2) และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปน (505,370 กม.2) มากที่สุด

ประเทศไทยมี]ลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[24] รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากแม่น้ำปิงและยมที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ภาคกลางกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก[25] ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไทย-มาเลย์[26] ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ

แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำทั้งสองและสาขาทั้งหลาย อ่าวไทยมีพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร รองรับน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ถือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ นอกจากนี้ อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะมีท่าเรือหลักที่สัตหีบ ถือได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาก นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาเยือนเสมอ ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน
ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 °C และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล: อากาศร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน; ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ประเทศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และพายุหมุนเขตร้อนเป็นฤดูฝน; ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนเป็นฤดูหนาว[27] ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและร้อน โดยฝั่งทะเลตะวันออก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน[27]
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคการเกษตร และประเทศไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด[25] พื้นที่ราว 29% ของประเทศไทยเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง[28] ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง[29]) และอีกเกือบ 20% เป็นเขตป่าสงวน[28] ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก[30] ในประเทศไทย พบนก 982 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งมีการบันทึก[31]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น