วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาน้ำท่วมปี 2554 จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง



          
          ภัยพิบัติน้ำท่วมที่รุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบหลายสิบปี ยังคงสร้างความเสียหายในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ ก็กำลังกระชับพื้นที่เข้ามายังมหานครกรุงเทพฯ อย่างไม่ลดละ ล่าสุด ข้อมูลจากทางการเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500 คนแล้ว มีการประเมินค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมครั้งนี้คิดเป็นมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ซึ่งผู้เชียวชาญบางท่านได้ประเมินว่า ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เสียหายมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มากกว่าหลายเท่าตัว ยังไม่ต้องพูดถึงความเสียหายทางจิตใจ และความเป็นอยู่ของประชาชนหลายแสนที่ทรัพย์สินเกือบทั้งชีวิตลอยหายไปในพริบตาเดียว ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ตกลงน้ำท่วมครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ และยังสงสัยว่า ปีหน้าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับพวกเขาอีกหรือไม่ ถ้ามาแล้วจะต้องรับมือกันอย่างไร รัฐบาลมีแผนป้องกันภัยพิบัติหรือไม่ ตกลงนิคมอุตสาหกรรมควรจะย้ายหรือเปล่า หากแต่คนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานไหนที่ชัดเจน และก็น่าสงสัยว่า พวกเขาจะได้รับคำตอบเหล่านี้ในอนาคตบ้างไหม หนึ่งในข้อเสนอของการจัดการภัยพิบัติคราวนี้ คือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบหาและสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งทำหน้าที่สอบสวนและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพื่อเปิดเผยแก่สาธารณชน และการวางแผนป้องกันภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยที่ไม่ค่อยจะมีคณะกรรมการอิสระที่เคยทำงานได้จริงนั้น การหันไปดูประเทศอื่นเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการภัยพิบัติ อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือเหตุการณ์น้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปี 2554 กล่าวกันว่าเป็นภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดของออสเตรเลียในรอบ 200 ปี ซึ่งได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 30 คน และทำให้ประเทศเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บางพื้นที่ของรัฐควีนส์แลนด์ซึ่งมีประชากรราวหนึ่งล้านสี่แสนคนนั้น จมอยู่ใต้น้ำที่สูงกว่า 4 เมตร น้ำท่วมในเมืองอิปสวิช (Ipswich) รัฐควีนส์แลนด์ ภาพจาก lordphantom74 (CC BY 2.0) เมื่อกลางเดือนมกราคม ก่อนที่อุทกภัยดังกล่าวจะสิ้นสุดเสียอีก รัฐบาลของแคว้นควีนส์แลนด์ ก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง (Commission of Inquiry) เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วม โดยตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งควีนส์แลนด์ แคเธอรีน โฮล์มส์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีจิม โอซัลลิแวน อดีตอธิบดีกรมตำรวจควีนส์แลนด์ และฟิลลิป คัมมินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเขื่อน เป็นรองประธาน คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจออกหมายเรียก และหมายค้นใครก็ได้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาเป็นพยานและให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการค้นหาความจริงกรณีอุทกภัยในควีนส์แลนด์ คณะกรรมการอิสระดังกล่าว มีหน้าที่สอบสวนในหลายประเด็น เช่น ความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ในการรับมือภัยพิบัติ, การจัดการระบบเขื่อน, การพยากรณ์อากาศและระบบเตือนภัย, ความเหมาะสมของการวางผังเมือง ไปจนถึงตรวจสอบการทำงานของบริษัทประกันภัย โดยข้อเท็จจริงที่ได้ต้องผลิตออกมาเป็นรายงานเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยกำหนดให้รายงานขั้นกลาง (interim report) ส่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ฝีมือมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ? ในขณะที่สื่อมวลชนบางฉบับในเมืองไทยยังคงโหมข่าวว่า สาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้ เป็นเพราะสยามเทวาท่านลงโทษเพราะมีผู้นำหญิงนำกาลีมาสู่เมือง สื่อมวลชนหัวใหญ่ของออสเตรเลียอย่าง ดิ ออสเตรเลียน (The Australian) ได้เข้าถึงข้อมูลในเดือนมกราคม 2554 ที่เปิดเผยว่า น้ำที่ไหล่บ่าเข้าท่วมควีนส์แลนด์ราว 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเขื่อนวิเวนโฮ (Wivenhoe Dam) ที่กักเก็บน้ำไว้มากเกินไปช่วงปลายปีในฤดูฝน (ฤดูฝนของออสเตรเลียอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเมษายน) ประกอบกับปรากฏการณ์ “ลา นินญ่า” (La Nina) ที่นำพายุไซโคลนเข้ามาสู่ทวีปพร้อมปริมาณน้ำฝนที่มากที่สุดที่เคยมีมาของออสเตรเลีย ทำให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมเมืองสามในสี่ของรัฐควีนส์แลนด์จนไม่เหลือชิ้นดี ข้อสงสัยที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียนนี้ ทำให้รัฐบาลบรรจุเรื่องการจัดการน้ำในเขื่อน เป็นวาระหลักในการสอบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วย น้ำท่วมในเมืองอิปสวิช รัฐควีนส์แลนด์ ภาพจาก Jim yes that is me (CC BY 2.0) หลังจากน้ำท่วมไม่ถึง 8 เดือน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 รายงานสรุปข้อเท็จจริง ก็ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน และได้ข้อสรุปว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีส่วนมาจากการปล่อยน้ำในเขื่อนไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องไว้หลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารระหว่างกระทรวงทรัพยากรน้ำ และกรมที่เกี่ยวข้องที่ไม่ชัดเจน นำไปสู่การจัดการภัยพิบัติไม่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงที การคำนวณปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายปีที่ผิดพลาดของวิศวกรเขื่อนและกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนมีมากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น การมีมาตรวัดปริมาณน้ำที่ติดตั้งไม่ทั่วถึงบริเวณเขื่อน ทำให้การวัดปริมาณระดับน้ำมีความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ สื่อบางฉบับยังตั้งคำถามกับซอฟท์แวร์การจัดการทรัพยากรของกระทรวงน้ำที่มีอายุมากถึง 15 ปีด้วย บุคคลเกี่ยวข้องโดยตรง อย่างรัฐมนตรีกระทรวงน้ำของออสเตรเลีย สตีเฟน โรเบิร์ตสัน ได้กล่าวในระหว่างการไต่สวนสาธารณะว่า ถึงเขาจะรับทราบว่าเขื่อนวิเวนโฮควรจะปล่อยน้ำออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้มีที่ว่างในการรับปริมาณน้ำฝน แต่ก็ยอมรับว่า ทางกระทรวงไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ส่วนต่อคำถามที่ว่ากรมของเขาทำงานผิดพลาดหรือไม่ เขาตอบว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ต้องไปสอบสวนและหาข้อสรุปด้วยตัวเอง การที่คณะกรรมการอิสระดังกล่าว มีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนกรณีน้ำท่วม ทำให้มีการเรียกบุคคลอย่างน้อย 250 คน เข้ารับการไต่สวนสาธารณะ ทั้งจากกระทรวงน้ำ วิศวกรเขื่อน เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ไปจนถึงเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัย และแจกแจงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อการจัดการน้ำในช่วงดังกล่าวต่อคณะกรรมการ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีรับฟังสำหรับประชาชนที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องการจะมาให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ด้วย ผู้ว่าการรัฐควีนส์แลนด์ แอนนา ไบลฮ์ กล่าวถึงความสำคัญของการตั้งคณะกรรมการอิสระนี้ว่า นอกจากจะทำให้เราสามารถสรุปปัญหาของการจัดการน้ำในเขื่อนแล้ว ยังทำให้เราสามารถวางแผนในอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยได้ “คณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ จะไม่มีก้อนหินก้อนไหนที่ไม่ถูกตรวจสอบ หากมันเกี่ยวข้องกับการตอบคำถามของประชาชนต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเขื่อนวิเวนโฮ หรือเหตุการณ์โชคร้ายที่แม่น้ำล็อกเกอร์ก็ตาม” ไบลฮ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เอบีซี “เราจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ เพื่อที่เราจะได้ป้องกันตัวเองให้พร้อมกว่านี้ในอนาคต เราต้องให้เกียรติผู้คนที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าจากหายนะ และในการทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น” เธอกล่าว ในขณะนี้ คณะกรรมการอิสระที่ค้นหาความจริงกรณีน้ำท่วมควีนส์แลนด์ ยังคงทำหน้าที่ต่อไป และมีหน้าที่ส่งรายงานฉบับสุดท้ายในเดือนมิถุนายนปี 2555 โดยจะสืบสวนในเรื่องการวางผังเมือง และผลิตข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะยาวเพิ่มเติม ในขณะที่รายงานขั้นกลาง มีจุดประสงค์เพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันและวางแผนภัยพิบัติก่อนฤดูฝนในปีถัดไป อันที่จริง วิวาทะเรื่องสาเหตุของน้ำท่วมว่ามาจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์นั้น ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นแค่ประเทศไทยที่เดียว แต่ในประเทศอินเดียซึ่งประสบภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน วิวาทะร้อนในอินเดีย ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ของอินเดียหลายฉบับ ได้ตีพิมพ์การโต้ตอบระหว่างนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหว และเจ้าหน้าที่รัฐ เกี่ยวกับกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2554 ในรัฐโอริสสา โดยฝ่ายค้านกล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบกักเก็บน้ำในเขื่อนมากเกินไป ถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาตรเต็มของเขื่อน ทำให้เมื่อเข้าหน้าฝน เขื่อนไฮรากุดจำเป็นต้องปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลออกมาภายในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าแปดสิบคน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ผู้เชียวชาญระบุว่า จุดประสงค์ดั้งเดิมของเขื่อนไฮรากุดที่ขวางแม่น้ำมหานาดี มีไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในระยะหลังๆ เขื่อนดังกล่าวถูกใช้เพื่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า และใช้ในอุตสาหกรรมร่วมด้วย ทำให้มีการเก็กกับน้ำในเขื่อนมากเกินจำเป็น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียได้ตอบโต้ว่า น้ำท่วมดังกล่าว ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการจัดการน้ำในเขื่อนผิดพลาด และยืนยันว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนไฮราคุดซึ่งเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ เป็นไปตามข้อกำหนดที่คำนวณไว้อย่างถูกต้องแล้ว ทางนักการเมืองฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหว ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง และตีพิมพ์ “สมุดปกขาว” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะอีกด้วย ปัญหาเผือกร้อน ส่วนในประเทศไทยเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามกับสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงไปตรงมามากนัก แต่เรายังพบเห็นฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานราชการ บล็อกเกอร์ นำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของน้ำท่วมปี 2554 มานำเสนอต่อสาธารณะกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณฝนที่มากผิดปรกติ เนื่องมาจากพายุโซนร้อน (สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 40%) เป็นสาเหตุหลักของน้ำท่วมในครั้งนี้ (Andrew Walker, Thai flood cause revealed: rain! , เว็บไซต์นิวแมนดาลา) การบริหารจัดการน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ข้อมูลปริมาณฝนที่ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวางแผนในการจัดการน้ำให้เหมาะสม (ชินวัชร์ สุรัสวดี, เทียบข้อมูลฝนจากดาวเทียม หาสาเหตุวิกฤตน้ำท่วม 2554, มติชน) ไม่มีการติดตามข้อมูลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ทำให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คาดการณ์ผิด และเก็บน้ำไว้ในเขื่อนใหญ่ทั้งหมดเพราะกลัวว่าจะไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ส่งผลให้เมื่อฝนตกต่อเนื่อง เขื่อนใหญ่จำเป็นต้องปล่อยน้ำทั้งหมดออกมาพร้อมกัน ทำให้ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมามีมากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกใส่เขื่อน (สมิทธิ ธรรมสโรช, น้ำท่วม...บริหารจัดการไม่เป็น [บทสัมภาษณ์], โพสต์ทูเดย์) การขาดการบูรณาการในการจัดการน้ำระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีวิสัยการทำงานแบบต่างคนต่างทำ รวมถึงปัญหาผังเมือง การขาดองค์ความรู้เรื่องน้ำที่เป็นระบบ และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา (สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, เห็นอะไรในสายน้ำ?, ประชาไท) ความไม่พร้อมของรัฐกับการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่, ระบบการระบายน้ำ และประสิทธิภาพของระบบการพยากรณ์ โดยในปีนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานพยากรณ์ว่า จะมีพายุเข้าเพียง 2 ลูก แต่ในความเป็นจริงมีพายุเข้าถึง 5 ลูก (มนตรี จันทวงศ์, เสวนาเปิดน้ำท่วม(ปาก): \น้ำท่วม ตอผุด\" การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ผูกขาดโดยผู้เชี่ยวชาญ

                             

อ้างอิง http://prachatai.com/journal/2011/11/37790

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น