วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมในปี 2555

              
แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมในปี 2555 ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2555 มีโอกาสขยายตัวมากกว่าปี 2554 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากต้นปีเป็นต้นไป โดยภาวะอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2555 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2554 แต่ในไตรมาส 2 ปี 2555 จะเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การขยายตัวยังมีไม่มาก เพราะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่


ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 คาดว่าจะเติบโตได้ดีและมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อุตสาหกรรมปี 2555 จะขยายตัว 5-6% ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 6-7% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65-68 %


ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าโรงงานที่ถูกน้ำท่วมครั้งนี้ จะฟื้นฟูก่อนสิ้นไตรมาส 2 แต่ในภาพรวมเชื่อว่าการฟื้นฟูโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยในเดือนม.ค. 2555 โรงงานที่ถูกน้ำท่วมจะเริ่มผลิตได้ประมาณ 70% และจะค่อยผลิตได้เต็มที่มากขึ้นยกเว้นโรงงานที่ได้รับความเสียหายมาก ซึ่งถ้ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้เร็วจะช่วยให้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมได้เร็วเช่นกัน


สำหรับการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยงบประมาณจะถูกนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม ซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่เสียหายและการลงทุนป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ซึ่งทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมีความสำคัญและมีส่วนช่วยให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น รวมทั้งจะเกิดการเร่งผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในช่วงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม


ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมไทย มาจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและมีโอกาสที่การส่งออกจะชะลอตัวลงจากปี 2554 โดยตลาดหลักของไทยอาจจะมีปัญหา เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวนาน และเศรษฐกิจอียูได้อ่อนแอลงมากจึงฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้


ทั้งนี้ ตลาดเอเชียและอาเซียนจะช่วยลดผลกระทบของการส่งออกไทย รวมทั้งอาจได้รับปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทแข็งค่า เพราะเงินทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามามากขึ้นผ่านบริษัทประกันข้ามชาตินับแสนล้านบาทและเงินทุนที่เข้ามาเพื่อฟื้นฟูกิจการที่ถูกน้ำท่วมในไทย และอาจได้รับปัจจัยลบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากมีต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นระดับพรีเมียมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความโดดเด่นของสินค้าไทยให้แข่งขันกับต่างชาติได้


หากพิจารณารายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีในปี 2555 จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่มีความเพิ่มขึ้นเพื่อซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน อาคารและบ้านเรือน ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิต รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 1-2


ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า จะมีความต้องการเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้างมากขึ้น และยังมีการผลิตมากขึ้นเพื่อรักษาสต็อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 สำหรับเหล็กทรงแบนคาดว่าจะมีความต้องการใช้ลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องถูกน้ำท่วม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โดยทำให้ความต้องการใช้เหล็กทรงแบนลดลงด้วย


นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม จะเริ่มมีภาวะการผลิตที่ดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะมีการผลิต 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ผลิตได้ 1.5 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 33% ซึ่งโรงงานผลิตรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมคาดว่าจะกลับมาผลิตได้ในไตรมาส 2 ปี 2555 มีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนสายการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ก่อนหน้านี้ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปเอเชีย และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล แต่ปัจจัยอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค


อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ายังมีการขยายตัวแต่ไม่มาก จากการขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ได้รับความเสียหาย จากน้ำท่วมจะมีความต้องการเพื่อชดเชยกับส่วนที่เสียหาย เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากสินค้าไอทีประเภทใหม่ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐและอียูที่มีความต้องการไม่แน่นอนและส่งผลต่อความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก


อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการสินค้าอาหารไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยการส่งออกอาหารในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 7.8% มูลค่า 28,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดสหรัฐและอียูที่เป็นตลาดหลักยังมีความต้องการอาหารจากไทย แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เงินบาทแข็งค่า การลดค่าเงินของประเทศคู่แข่ง มาตรการกีดกันทางการค้า ส่วนการบริโภคอาหารภายในประเทศอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ต่อความต้องการสินค้าของผู้บริโภคลดลง


อย่างไรก็ตาม มีอุตสาหกรรมที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีแนวโน้มการผลิตเส้นใย ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดหลักทั้งสหรัฐ อียูและญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดส่งออกมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และความผันผวนของราคาฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบหลักของสินค้า และโรงงานสิ่งทอรายใหญ่บางแห่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้ต้องหยุดผลิตชั่วคราว จึงมีผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ทอผ้า ฟอกย้อม


ส่วนโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม ถนนเอกชัย-บางบอนและถนนพุทธมณฑล โดยส่งผลต่อการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 ต่อเนื่องถึงปี 2555


ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลให้เสียโอกาสทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ประเทศในอาเซียนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งกำลังการผลิตที่ลดลงในช่วงน้ำท่วมและช่วงการฟื้นฟูโรงงานจะทำให้คู่แข่งชิงคำสั่งซื้อจากคู่ค้าได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น