วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประเทศไทย


ประเทศไทย



          ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด
          ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 66 ล้านคน กับทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก อาทิ พัทยา, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่นเดียวกับการส่งออกอันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และด้วยจีดีพีของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าราว 334,026 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามที่ประมาณใน พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 30 ของโลก
          ในอาณาเขตประเทศไทย พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อันมีความยิ่งใหญ่กว่า และมีการติดต่อกับชาติตะวันตก แต่ก็ร่วงโรยลงช่วงหนึ่ง อันเนื่องมาจากการขยายอำนาจของพม่านับแต่ พ.ศ. 2054 ก่อนจะกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ก่อนเสื่อมอำนาจและล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาอาณาจักรธนบุรี เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักร ได้นำไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ช่วงต้นกรุง ประเทศเผชิญภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาหลายฉบับ และการเสียดินแดนบางส่วน กระนั้น ไทยก็ยังธำรงตนมิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ต่อมาจนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย และไทยได้เข้ากับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนช่วงสงครามเย็น ไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ทหารเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยอย่างมากหลังปฏิวัติสยามอยู่หลายสิบปี กระทั่งมีการตั้งรัฐบาลพลเรือน และเข้าสู่ยุคโลกเสรีในปัจจุบัน

ชื่อเรียก

          คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000 เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนใน พ.ศ. 2399 แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลย ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว
          ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482) ได้เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งจอมพล ป. มีเจตนาต้องการบ่งบอกว่าดินแดนนี้เป็นของชาวไทย มิใช่ของเชื้อชาติอื่น ตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488 แต่ก็ได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[18] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษมักถูกจำสับสนกับไต้หวันอยู่บ่อย ๆ

ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม





          ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลกและเป็นอันดับที่ 3 ในคาบสมุทรอินโดจีน รองจากประเทศอินโดนีเซีย (1,910,931 กม.2) และประเทศพม่า (676,578 กม.2) และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปน (505,370 กม.2) มากที่สุด
          ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากแม่น้ำปิงและยมที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ภาคกลางกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ
          แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย การผลิตของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำทั้งสองและสาขาทั้งหลาย อ่าวไทยมีพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร รองรับน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ถือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ นอกจากนี้ อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะมีท่าเรือหลักที่สัตหีบ ถือได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาก นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาเยือนเสมอ ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน


ช้างเอเชีย (Elephas maximus) สัตว์ประจำชาติไทย





          ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 °C และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาล: อากาศร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน; ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ประเทศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และพายุหมุนเขตร้อนเป็นฤดูฝน; ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนเป็นฤดูหนาว ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและร้อน โดยฝั่งทะเลตะวันออก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน
          ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคการเกษตร และประเทศไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด พื้นที่ราว 29% ของประเทศไทยเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง) และอีกเกือบ 20% เป็นเขตป่าสงวน ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก ในประเทศไทย พบนก 982 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งมีการบันทึก

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น