ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เครื่องปั้นดินเผาซึ่งถูกพบใกล้กับบ้านเชียง สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในอดีต พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบันได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าเป็นต้นมา คือ ราว 20,000 ปีที่แล้ว ภูมิภาคดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทางศาสนาจากอินเดีย นับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 แต่สำหรับรัฐของคนไทยแล้ว ตามตำนานโยนกได้บันทึกว่า การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1400
อาณาจักรสุโขทัย
ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้มีรัฐเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก อาทิ ชาวไท มอญ เขมรและมาเลย์ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรสุโขทัยขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่เริ่มอ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ การรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามา ทำให้อาณาจักรสุโขทัยเริ่มมีการปกครองแบบธรรมราชา
อาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยขึ้น ในปี พ.ศ. 1893 มีการปกครองแบบเทวราชา ซึ่งยึดตามหลักของศาสนาพราหมณ์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ต่อมา ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โกษาปานนำพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2054 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้อยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น กระทั่งมีการขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง การสงครามอันยืดเยื้อนับสิบปี ส่งผลให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูใน พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีเพื่อสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่งจากนั้น กรุงศรีอยุธยาได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส, ดัตช์, และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลซึ่งเพิ่มมากขึ้นของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเพทราชาประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน ความขัดแย้งภายในทำให้การติดต่อกับชาติตะวันตกซบเซาลง
อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 การสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) ส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2310 ในที่สุด ทว่า ในปีเดียวกัน พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยอยู่ 15 ปี ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยเผชิญกับการรุกรานจากชาติเพื่อนบ้านหลายครั้งจนกระทั่งรัชกาลที่ 4 พระราชนโยบายของพระมหากษัตริย์ในช่วงนี้ คือ การป้องกันตนเองจากมหาอำนาจอาณานิคม แต่ก็ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เทคโนโลยีตะวันตก และการศึกษาอันทันสมัย[41]
การเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก
การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่าง พ.ศ. 2393-2451
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง อันนำมาสู่การทำสนธิสัญญากับชาติอื่น ๆ ด้วยเงื่อนไขที่คล้ายกัน หากก็นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและการค้าระหว่างประเทศ ต่อมา การคุกคามของจักรวรรดินิยมทำให้สยามเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสและอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากชาติมหาอำนาจ สยามก็ยังสามารถธำรงตนเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก หากก็ต้องรับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา และดำรงบทบาทของตนเป็นรัฐกันชนระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งสอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประเทศได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลายเพื่อให้ชาติมีอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่กว่าจะเสร็จก็ล่วงถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับในขบวนการเสรีไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม
ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายในการต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ต่อมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศ แต่ในภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็กลับอ่อนแอลงจนไม่สามารถปฏิบัติการได้อีก โดยสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุติลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี พ.ศ. 2523
การพัฒนาประชาธิปไตย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการทหารในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังให้มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรก[ต้องการอ้างอิง] ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารกว่าสิบครั้ง อย่างไรก็ดี มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญถึงสองครั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงมั่นคงยิ่งขึ้น[ต้องการอ้างอิง]
ช่วงพุทธทศวรรรษ 2540 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่อมา ทักษิณ ชินวัตรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองสมัยติดต่อกัน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด โดยได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจจนประสบผลหลายอย่าง แต่ก็ตกเป็นที่กล่าวหาอย่างกว้างขวางเช่นกัน ช่วงนี้เองที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ใน พ.ศ. 2549 มีรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปใน พ.ศ. 2550 ทำให้ประเทศกลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตยอีกครั้ง
วิกฤตการณ์การเมืองนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มมวลชนสองกลุ่ม คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กลุ่มแรกชุมนุมประท้วงรัฐบาลทักษิณ เรื่อยมาถึงรัฐบาลสมัครและสมชาย โดยมีการชุมนุมใหญ่ในห้วง พ.ศ. 2551 ส่วนกลุ่มหลังชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ระหว่าง พ.ศ. 2552-2554 โดยมีการชุมนุมที่มีการเสียชีวิตถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2552 และ 2553 ล่าสุด การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปใน พ.ศ. 2554 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น