วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชากร


ประชากร

สถิติจำนวนประชากรไทย ตามสำมะโนประชากร พ.ศ. 2453 – 2553
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ครั้ง   ปีที่สำรวจ
        (พ.ศ./ค.ศ.) จำนวน (คน) อัตราเพิ่ม
1 2453 (1910) 8,131,247 -
2 2462 (1919) 9,207,355 + 13.2
3 2472 (1929) 11,506,207 + 25.0
4 2480 (1937) 14,464,105 + 25.7
5 2490 (1947) 17,442,689 + 20.6
6 2503 (1960) 26,257,916 + 50.5
7 2513 (1970) 34,397,371 + 31.0
8 2523 (1980) 44,824,540 + 30.3
9 2533 (1990) 54,548,530 + 21.7
10 2543 (2000) 60,916,441 + 11.7
11 2553 (2010) 65,926,261 + 8.2

ชนชาติ

                                                                 
                                                              แผนที่ชาติพันธุ์ในไทย

          สถิติจำนวนประชากรไทยนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา ทั้งนี้ตามการประมาณของ CIA The World Factbook เมื่อปี พ.ศ. 2553 ประชากรทั้งหมดของประเทศไทยมีประมาณ 66,404,688 คน ประกอบด้วยไทยสยามประมาณร้อยละ 75 ไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 14 ไทยเชื้อสายมลายูร้อยละ 3ประเทศไทยประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน โดยที่ในปี พ.ศ. 2551 อัตราการเกิดของประชากรอยู่ที่ 1.5% และมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือเพียง 1.45% ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราการคุมกำเนิดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคิดเป็น 81% ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเมื่อประกอบกับอัตราการตายที่ลดลงในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากขึ้นในอนาคต

          ในประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีทั้ง ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายลาว ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมไปถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู ชาวชวา (แขกแพ) ชาวจาม (แขกจาม) ชาวเวียด ชาวพม่า และชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ลีซอ ชาวม้ง ส่วย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2553 ตามข้อมูลของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายอยู่ 1.4 ล้านคน โดยมีอีกเท่าตัวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตามข้อมูลการอพยพระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่จำนวน 1.05 ล้านคน คิดเป็น 1.6% ของจำนวนประชากร

          ประเทศไทยมีการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยสนับสนุนความเป็นอิสระในแต่ละเชื้อชาติ ได้มีนักวิชาการตะวันตกเขียนเอาไว้ว่า ประเทศไทยเป็น "สังคมที่มีโครงสร้างอย่างหลวม ๆ"

ศาสนา


จำนวนผู้นับถือศาสนาในประเทศไทย
ศาสนา%
พุทธ
  
93.4%
อิสลาม
  
5.2%
อื่น ๆ
1.4%


          ตามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 93.4 ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย แม้ว่าจะยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดเลยก็ตาม ทั้งนี้ ประเทศไทยถือได้ว่ามีผู้นับถือศาสนาพุทธมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

          รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือประมาณร้อยละ 5.2 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ตอนล่าง ประชาชนในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส บางพื้นที่ของสงขลาและชุมพรนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นอีก เช่น คริสต์ ซิกข์และฮินดู รวมประมาณร้อยละ 1.4 สำหรับประชาคมชาวยิวนั้น มีประวัติยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17

ภาษา

          ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือในภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ในภาคใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้งานภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น

          ภาษาอังกฤษและอักษรอังกฤษมีสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่จำนวนผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวที่มีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น จากที่ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าในปี พ.ศ. 2540 แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 ไทยกลับล้าหลังประเทศลาวและประเทศเวียดนาม

การศึกษา


          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2459

          การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2464 ตามกฎหมายไทย รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลา 12 ปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ 9 ปี ระบบโรงเรียนที่ถูกจัดไว้มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นตามลำดับ แต่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว บุคคลสามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเลือกศึกษาสายวิชาชีพ หรืออาจเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ

          ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องผ่านระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งโดยปกติจะเสร็จสิ้นในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียจาก QS Asian University Rankings 2011

          แต่กระนั้น ก็ยังมีการเป็นห่วงในประเด็นทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาของเยาวชนชาวไทย ซึ่งจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นได้รายงานว่า "กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะต้องรับมือกับความฉลาดที่ต่ำลง หลังจากได้พบว่าระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 80" วัชระ พรรณเชษฐ์ได้รายงานในปี พ.ศ. 2549 ว่า "ค่าเฉลี่ยของระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยอยู่ระหว่าง 87-88 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' จากการจัดระดับในระดับสากล" ปัญหาในการศึกษาไทย พบว่าการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนยังจำกัดอยู่มาก

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น